Monday, July 1, 2019

The Epic of Gilgamesh

มหากาพย์กิลกาเมช (Gilgamesh) เป็นตำนานน้ำท่วมโลกที่เก่าแก่ที่สุดในยุคของเมโสโปเตเมียโบราณ และเป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมประเภทนิยายที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย นักวิชาการเชื่อว่ามหากาพย์เรื่องนี้มีกำเนิดมาจากตำนานกษัตริย์สุเมเรียนและบทกวีเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อว่า กิลกาเมช ซึ่งถูกรวบรวมเอาไว้กับบรรดาบทกวีอัคคาเดียนในยุคต่อมา
มหากาพย์กิลกาเมช ตำนานน้ำท่วมโลกเก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นเรื่องราวการผจญภัยของวีรบุรุษนามว่า กิลกาเมช (Gilgamesh) กษัตริย์ในตำนานแห่งนครอุรุค ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไทกริส-ยูเฟติส อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ประเทศอิรักปัจจุบัน) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกิลกาเมช กับเพื่อนของเขาชื่อ เอนกิดู เนื้อหาส่วนใหญ่ในมหากาพย์เน้นย้ำถึงความรู้สึกสูญเสียของกิลกาเมช หลังจากเอนกิดูเสียชีวิต และกล่าวถึงการกลับเป็นมนุษย์อีกครั้งพร้อมกับเน้นย้ำเรื่องความเป็นอมตะ
  • มหากาพย์ในต้นฉบับสุเมเรียนที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุอยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 3 ของอูร์ (Ur) คือระหว่าง 2150-2000 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนฉบับอัคคาเดียนที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในช่วงต้นๆ ของสหัสวรรษที่ 2
  • มหากาพย์อัคคาเดียนฉบับ “มาตรฐาน” ประกอบด้วยแผ่นดินเหนียว 12 แผ่น ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่าง 1300-1000 ปีก่อนคริสตกาล ค้นพบอยู่ในหอจารึกของ Ashurbanipal ที่เมืองนีนะเวห์ (Nineveh) หอสมุดแห่งนี้ถูกพวกเปอร์เซียทำลายเมื่อ 612 ปีก่อนคริสตกาล และจารึกทั้งหมดก็พินาศไปด้วย
  • มหากาพย์ชุดที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบันปรากฏในแผ่นดินเหนียว 12 แท่งซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอเก็บจารึกของกษัตริย์แห่งอัสซีเรีย เมื่อราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล
  • มหากาพย์อัคคาเดียนนี้ ถูกจารึกระบุชื่อผู้แต่งไว้ด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากในสมัยโบราณ แทบจะไม่มีการจารึกชื่อผู้แต่งเรื่องใด ๆ (จารึกไทยในสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาก็ไม่มีการจารึกชื่อผู้แต่งเช่นกัน) ผู้แต่งจารึกนี้คือ ชิเนฆิอุนนินนิ (Shin-eqi-unninni) อาจกล่าวได้ว่า บุคคลผู้นี้เป็นนักเขียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกวรรณกรรม ที่เราสามารถระบุชื่อได้
  • มหากาพย์ มีชื่อดั้งเดิมว่า ผู้มองเห็นเบื้องลึก (He who Saw the Deep) หรือผู้ยิ่งใหญ่กว่าราชันทั้งปวง (Surpassing All Other Kings)
  • มีการคาดเดาว่า  กิลกาเมชอาจจะเป็นผู้ปกครองที่มีตัวตนจริงในอดีตระหว่างราชวงศ์ที่ 2 ของยุคต้นของสุเมเรีย (ประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล)
  • การค้นพบวัตถุโบราณอายุประมาณ 2600 ปีก่อนคริสตกาลที่มีความเกี่ยวข้องกับ Enmebaragesi แห่ง Kish ผู้ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานว่าเป็นบิดาของศัตรูคนหนึ่งของกิลกาเมช ทำให้มหากาพย์เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ในทางประวัติศาสตร์มากขึ้น และช่วยยืนยันว่ากิลกาเมชน่าจะมีตัวตนจริง
  • มหากาพย์กิลกาเมช หลงเหลืออยู่เป็นวรรณกรรมในหลายภาษา เช่น ของชาวอัคคาเดีย (ภาษาตระกูลเซมิติค ซึ่งมีความสัมพันธ์กับภาษาฮีบรู, เป็นภาษาที่พูดกันในอาณาจักรบาบิโลน) นอกจากนี้ยังมีปรากฏบนแผ่นจารึกดินเหนียว เป็นภาษาฮูร์เรียน และภาษาฮิตไตต์ (ภาษาหนึ่งในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน ซึ่งพูดกันในเขตรอยต่อยุโรปและเอเชีย นับเป็นหนึ่งในบรรดาภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) ภาษาทั้งหมดที่พูดมานี้ จารด้วยอักษรลิ่ม หรือที่เราคุ้นเคยกันด้วยชื่อ คูเนฟอร์ม

มหากาพย์กิลกาเมช ตามตำนานได้เล่าไว้ว่า …

กิลกาเมช เป็นกษัตริย์แห่งนครอูรุก ซึ่งเป็นนครรัฐใหญ่ของชาวสุเมอร์เรียน พระองค์ทรงมีพระมารดาเป็นเทพและมีพระบิดาเป็นมนุษย์ ทำให้ทรงมีเลือดเทพอยู่ในวรกายครึ่งหนึ่ง
กิลกาเมชเป็นกษัตริย์ที่มัวเมาในเรื่องของกามารมณ์เป็นอย่างมาก พระองค์ใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการหาสาวงามมาสนองตัณหาของตัวเอง โดยไม่ละเว้นว่า หญิงสาวผู้นั้นจะเป็นสาวโสดหรือมีคู่ครองแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์มักจะไปปรากฏตัวในงานแต่งงานและเรียกร้องสิทธิในการนอนกับเจ้าสาวในคืนแรกของการสมรส ซึ่งการกระทำเหล่านี้ทำให้พลเมืองชาวอูรุกพากันคับแค้นใจอย่างมาก แต่ก็มิอาจทำอะไรได้ เนื่องจากเกรงกลัวในอำนาจของกษัตริย์และสายเลือดแห่งเทพของกิลกาเมช
ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาปวงชนผู้ทุกข์ร้อนจึงพากันไปสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้าให้ทรงจัดการกับกิลกาเมช และเมื่อเสียงสวดอ้อนวอนของประชาชนไปถึงสวรรค์ เหล่าเทพเจ้าจึงลงมติที่จะต้องจัดการกับมนุษย์ครึ่งเทพผู้นี้ โดยเหล่าเทพได้ให้เทพีอารารูปั้นดินเหนียวเป็นรูปบุรุษผู้หนึ่งและให้นามว่า เอ็นคิดู โดยเทพเจ้าได้นำความป่าเถื่อนของสัตว์ป่า 12 ชนิดใส่ลงไปในตัวของเขา เพื่อให้เขาทรงพลังพอที่จะจัดการกับกิลกาเมชได้
เอ็นคิดูมีร่างกายท่อนบนเป็นชายหนุ่มรูปร่างกำยำสูงใหญ่ขณะที่ขาทั้งสองข้างนั้นเป็นขาของวัวกระทิง ส่วนบนศีรษะยังมีเขากระทิงงอกออกมาอีกด้วย เหล่าเทพได้ส่งเอ็นคิดูลงมาอยู่กับบรรดาสัตว์ป่าในป่านอกเมืองอูรุก ซึ่งเอ็นคิดูได้ใช้พลังของตนปกป้องสัตว์เหล่านั้นจากสัตว์นักล่าและนายพราน
บรรดานายพรานต่างไม่พอใจที่มีผู้มาขัดขวางการล่าสัตว์ ทว่าเมื่อพวกเขาได้พบกับเอ็นคิดูแล้ว ก็เกิดความพรั่นพรึงในตัวของมนุษย์ครึ่งกระทิงผู้นี้ พวกนายพรานจึงคิดหาวิธีจัดการกับเอ็นคิดู โดยพากันไปว่าจ้าง แซมฮัต ยอดหญิงนครโสเภณีประจำเทวาลัยแห่งอูรุก ให้ไปล่อลวงเอ็นคิดูออกมาจากป่าและทำให้พลังกับความป่าเถื่อนของมนุษย์ผู้นี้ลดน้อยลง
แซมฮัตใช้มารยาหญิงยั่วยวนจนเอ็นคิดูหลงในบ่วงสวาทของเธอ ทั้งคู่อยู่ร่วมกันถึงเจ็ดราตรีและการที่เอ็นคิดูมาใช้ชีวิตอยู่กับนางได้ทำให้เหล่าสัตว์ป่าที่เคยแวดล้อมเขา พากันหนีหายไป อีกทั้งพลังของเอ็นคิดูเองก็ลดน้อยลงด้วย จากนั้นแซมฮัตก็ชักชวนเอ็นคิดูเข้าเมืองและนำเขาไปรู้จักการใช้ชีวิตแบบชาวเมืองจนในที่สุด เอ็นคิดูก็หมดสภาพความป่าเถื่อนและกลายเป็นชาวเมืองโดยสมบูรณ์
วันหนึ่งขณะที่เอ็นคิดูกับแซมฮัตพำนักอยู่ด้วยกันกับเหล่าคนเลี้ยงแกะ พวกเขาก็ได้ข่าวว่า ราชากิลกาเมชกำลังจะเสด็จไปที่งานแต่งงาน งานหนึ่งเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการนอนกับเจ้าสาวในคืนแรก ซึ่งเมื่อเอ็นคิดูทราบเรื่องก็ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เขารีบตรงดิ่งไปที่งานและเข้าขัดขวางกิลกาเมชไม่ให้กระทำการอันน่าบัดสีนั้น
กษัตริย์หนุ่มทรงกริ้วที่มีผู้มาขัดขวาง พระองค์จึงเข้าต่อสู้กับเอ็นคิดูอย่างดุเดือดจนบ้านเรือนรอบข้างพังพินาศ ทว่าหลังจากทั้งสองขับเคี่ยวกันเป็นเวลานานต่างก็ไม่มีใครปราบใครลงได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กิลกาเมชทรงประทับใจในพละกำลังของอีกฝ่าย พระองค์จึงได้ยุติการต่อสู้และขอให้เอ็นคิดูมาอยู่กับพระองค์ในฐานะพระสหาย
มิตรภาพทำให้กิลกาเมชเปลี่ยนไป กษัตริย์หนุ่มทรงเลิกพฤติกรรมร้ายกาจที่เคยทำจนหมดสิ้นและด้วยคำแนะนำของเอ็นคิดู พระองค์ได้หันมาใส่พระทัยกับการดูแลบ้านเมือง จนนครอูรุกเจริญรุ่งเรืองและประชาชนต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญในคุณงามความดีของราชากิลกาเมช
ทว่าในขณะที่ประชาชนทั่วทั้งนครพากันมีความสุขภายใต้การปกครองของราชาหนุ่ม กิลกาเมชกลับเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตที่สงบสุขนี้ พระองค์ปรารถนาที่จะแสวงหาความตื่นเต้นในชีวิต จึงได้ตรัสชวนเอ็นคิดูเดินทางไปยังป่าซีดาร์แห่งทิศตะวันตกเพื่อเผชิญหน้ากับอสูรฮูวาวา
เมื่อได้ยินดังนั้น เอ็นคิดูก็ส่ายศีรษะอย่างไม่เห็นด้วยกับความคิดของสหาย เขากล่าวเตือนกิลกาเมชว่า ”อสูรตนนี้สูงใหญ่เทียมฟ้า ลมหายใจของมันเป็นเปลวไฟที่นำมาซึ่งความตายอย่างน่าสยดสยอง อีกทั้งเทพเอนลิลยังประทานพละกำลังให้มันเพื่อเป็นผู้ปกป้องป่าซีดาร์แห่งทิศตะวันตก การเผชิญหน้ากับมันไม่ผิดอะไรกับการเดินเข้าหาความตาย”
“หากข้าชนะ ข้าจะได้รับเกียรติอย่างยิ่งใหญ่หรือหากข้าตายในการต่อสู้ครั้งนี้ ข้าก็ยังได้รับชื่อเสียงว่า เป็นผู้กล้าที่จะเผชิญหน้ากับจอมอสูรฮูวาวา ซึ่งนั่นคือการตายที่มีศักดิ์ศรี” กิลกาเมชตรัส ก่อนจะตำหนิ เอ็นคิดูว่า ไม่มีความกล้าหาญที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งเมื่อถูกผู้เป็นสหายตำหนิดังนั้นแล้ว เอ็นคิดูจึงตัดสินใจที่จะร่วมเดินทางไปกับกิลกาเมชเพื่อเผชิญหน้ากับอสูรฮูวาวา
ทั้งสองออกเดินจากนครอูรุกโยปราศจากผู้ติดตามและหลังจากเดินทางเป็นเวลานับเดือนก็มาถึงเขตป่าซีดาร์ยักษ์ของอสูรฮูวาวา หลังจากนั้นพวกเขาก็ช่วยกันโค่นต้นซีดาร์ลงเพื่อท้าทายจอมอสูรให้ปรากฏตัว เมื่อฮูวาวารู้ว่ามีมนุษย์บุกเข้ามาโค้นต้นไม้ของมัน เจ้าอสูรก็ปรากฏกายขึ้นด้วยรูปร่างอันสูงใหญ่เทียมฟ้า เสียงคำรามของมันดังไปไกลทั่วผืนป่า ขณะที่ดวงตาแดงก่ำจ้องมองสองมนุษย์ผูอหังการ์
กิลกาเมชและเอ็นคิดูต่างรวมกำลังกันเข้าต่อสูกับฮูวาวาอย่างกล้าหาญ การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือดและรุนแรง จนในที่สุด กิลกาเมชก็สามารถสังหารฮูวาวาลงได้ ด้วยการทิ่มดาบลงบนเท้าอันมหึมาของจอมอสูรจนมันถึงกับทรุดลง จากนั้นเขาก็กระโดดขึ้นไปเหยียบบ่าและใช้ดาบตัดหัวของอสูรร้ายขาดกระเด็น ร่างมหึมาที่ไร้ศีรษะของฮูวาวาล้มครืนราวภูเขาถล่มทลาย
เมื่อสังหารจอมอสูรลงได้แล้ว กิลกาเมชกับเอ็นคิดูก็ช่วยกันโค่นป่าซีดาร์จนราบเรียบ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ชื่อเสียงของทั้งคู่เลื่องลือระบือไกล จนแม้ทวยเทพบนสรวงสวรรค์ก็ยังรับรู้
ในยามนั้น เทพีอิชตาร์ เทพีแห่งความงาม ความรัก สงคราม และตัณหา ทรงได้ยินเรื่องราวของกิลกาเมช พระนางจึงเสด็จลงมาเพื่อทอดพระเนตรราชาหนุ่มและเมื่อได้เห็นแล้ว องค์เทพีก็บังเกิดความเสน่หาในตัวกิลกาเมช พระนางจึงมาปรากฏองค์ต่อหน้าเขาและขอให้เขาเสกสมรสกับพระนางโดยทรงยื่นข้อเสนอว่าจะมอบอำนาจอันยิ่งใหญ่ให้กับเขาเป็นการตอบแทน ทว่ากิลกาเมชกลับปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ทั้งยังตรัสกับเทพีด้วยว่า เขารู้ดีว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างกับอดีตคู่รักของพระนาง ยามเมื่อพระนางสิ้นรักแล้ว และเขาไม่ปรารถนาจะเป็นเช่นนั้น
เทพีทรงโกรธและอับอายที่ถูกปฏิเสธซึ่งหน้า จึงเสด็จไปเข้าเฝ้าเทพอนู พระบิดาของพระนางเพื่อขอให้ลงโทษมนุษย์โอหังผู้นี้ “กิลกาเมชทำให้ข้าได้รับความอับอายยิ่งนัก ขอพระบิดาได้โปรดส่งกระทิงสวรรค์ไปสังหารมันและทำลายนครของมันให้พินาศสิ้นด้วยเถิด และหากพระบิดามิทรงยอมตามที่ลูกร้องขอ ลูกจะไปทลายประตูนรกเพื่อปลดปล่อยเหล่าผีร้ายให้ขึ้นมาย่ำยีมวลมนุษย์”
มื่อทรงได้ฟังคำขอของพระธิดาแล้ว เทพอนูจึงส่งกระทิงสวรรค์ลงมาเพื่อสังหารกิลกาเมชและทำลายนครอูรุก โดยในทันทีที่กระทิงสวรรค์เหยียบลงบนแผ่นดินอูรุก เพียงครั้งแรกที่มันพ่นลมหายใจออกมา ก็เกิดแผ่นดินแยกและสูบเอาทหารของกิลกาเมชลงไปถึง 100 คน และเมื่อมันพ่นลมหายใจครั้งที่สองก็ทำให้ทหารถูกสูบลงไปอีก 500 คน และในการพ่นลมหายใจครั้งที่สาม เอ็นคิดูก็พลัดตกลงไปในรอยแยกของแผ่นดิน
ทว่าชายหนุ่มสามารถปีนกลับขึ้นมาได้และพุ่งเข้าจับเขาของกระทิงสวรรค์เอาไว้ พร้อมกับร้องบอกให้กิลกาเมชใช้ดาบแทงเข้าไปยังจุดตายที่อยู่ระหว่างเขาและคอของมัน กษัตริย์หนุ่มใช้ดาบแทงเข้าไปตามที่สหายร้องบอกและกระทิงสวรรค์ก็สิ้นชีพลงในทันที
ความอหังการ์ของสองสหาย ทำให้เหล่าเทพตัดสินใจให้บทเรียนที่สำคัญแก่กิลกาเมช
โดยบันดาลให้เอ็นคิดูล้มป่วยและเสียชีวิตลง
ความตายของสหายทำให้กิลกาเมชเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เขาจมอยู่กับความทุกข์เป็นเวลานาน ทั้งยังเกิดความหวาดหวั่นสิ่งหนึ่งขึ้นภายในใจ นั่นคือ ความหวาดหวั่นว่า วันหนึ่ง พระองค์จะต้องสิ้นชีวิตลงเช่นเดียวกับสหาย
ในที่สุด กิลกาเมชจึงตัดสินพระทัยหาวิธีที่จะทำให้พระองค์ไม่ต้องตาย โดยออกเดินทางไปยังต้นน้ำแห่งแม่น้ำทั้งมวลของโลก เพื่อค้นหา อุชนาปิชติม มนุษย์ผู้รอดตายจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลกและได้รับพรจากเทพเจ้าให้เป็นอมตะ
กิลกาเมชออกเดินทางเพียงลำพังและเผชิญหน้ากับสิ่งแปลกประหลาดมากมาย เช่น มนุษย์แมงป่องยักษ์ที่น่ากลัวสองตนที่ทำหน้าที่เฝ้าหนทางสู่โลกใต้พิภพ มนุษย์แมงป่องทั้งสองรู้ว่า กิลกาเมชมีสายเลือดของเทพเจ้าอยู่ในตัวโดยกล่าวว่า “ท่านมีความเป็นเทพอยู่สองในสามส่วน มีความเป็นมนุษย์อยู่หนึ่งในสามส่วน” และเมื่อพวกมนุษย์แมงป่องรู้ถึงความตั้งใจของกิลกาเมช พวกนั้นก็เอ่ยเตือนเขาถึงอันตรายที่รออยู่ข้างหน้า แต่สุดท้ายก็ยอมปล่อยให้เขาเดินทางต่อไป
หลังเดินทางผ่านดินแดนแห่งความมืดแล้ว กิลกาเมชก็มาถึงหุบเขาแห่งแสงสว่างและสวนพฤกษาแห่งอัญมณีซึ่งต้นไม้ทุกต้นมีผลเป็นอัญมณีเลอค่า จากนั้นกิลกาเมชก็ไปถึงยังฝั่งทะเลแห่งมรณะและเมื่อข้ามพ้นทะเลแห่งนั้น เขาก็ได้พบกับอุชนาปิชติม
ซึ่งอุชนาปิชติมบอกกับกิลกาเมชว่า “ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเหล่าเทพเจ้ามีประสงค์ให้ชีวิตมนุษย์เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว” แต่กิลกาเมชก็ยังคงดึงดันที่จะเป็นอมตะ อุชาปิชติมจึงเล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วมโลกและกล่าวถึงการที่เทพเจ้าสั่งให้ตนต่อเรือช่วยสิ่งมีชีวิตบนโลกให้รอดตาย จากนั้นจึงได้รับพรจากเทพเจ้าให้เป็นอมตะ
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด อุชนาปิชติมก็ทนการอ้อนวอนของกิลกาเมชไม่ไหว เขาจึงบอกให้กิลกาเมชดำน้ำลงไปต้นมหาสมุทร ณ จุดสิ้นสุดของโลก เพื่อนำเอาต้นไม้แห่งการกลับคืนสู่ความหนุ่มสาวขึ้นมา กิลกาเมชทำได้สำเร็จและดีใจมาก
เขาตั้งใจจะนำต้นไม้นี้กลับไปทดลองกับคนชราที่เมืองอูรุก ทว่าระหว่างเดินทางกลับ งูตัวหนึ่งได้มาขโมยต้นไม้ต้นนั้นไป ทำให้เหล่างูทั้งหลายสามารถลอกคราบเพื่อกลับคืนสู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้อีกครั้ง
แม้กิลกาเมชจะผิดหวังกับความพยายามที่สุดท้ายก็สูญเปล่าของตน แต่ในที่สุด เขาก็ได้เข้าใจถึงสัจจะธรรมของชีวิตและยอมรับชะตากรรมของชีวิตโดยไม่คิดดิ้นรนเป็นอมตะอีกต่อไป จากนั้นกิลกาเมชก็สั่งให้ขุนนางจารึกเรื่องราวการเดินทางของพระองค์ไว้ที่ฐานของประตูเมืองและกลายเป็นตำนานที่เล่าขานมานานนับพันปี กล่าวขานสืบมาและเป็นอมตะในความทรงจำของคนรุ่นต่อมา สืบมาจนกระทั่งถึงวันนี้

No comments:

Post a Comment